เรื่องสิวที่คุณอาจยังไม่รู้

สิว

สารบัญ

สิว คืออะไร

สิว คือ เม็ดตุ่มหรืออาการอักเสบที่เกิดจากการอุดตันของสิ่งสกปรกในรูขุมขน (Hair follicles) โดยรูขุมขนเป็นที่อยู่ของขน มีลักษณะเป็นท่อล้อมรอบรากขนเอาไว้ มีหน้าที่รักษาสมดุลของหนังกำพร้า (Epidermis) และการหายของแผล ซึ่งจะมีท่อต่อมไขมันเปิดเข้ามาในรูขุมขนเพื่อส่งน้ำมัน (Sebum) ที่ผลิตจากต่อมน้ำมันออกสู่ผิวด้านนอก ด้วยเหตุนี้หากมีสิ่งสกปรกใดมาอุดตันอยู่ในรูขุมขนก็จะทำให้เกิดการปิดกั้นน้ำมันที่ต้องออกมาที่ผิวหนังตามธรรมชาติ จึงเกิดการอักเสบหรือปูดนูนที่รูขุมขนและต่อมไขมันเราอาจพบไขมันที่สะสมอยู่ในสิวประเภทสิวหัวดำ สิวเสี้ยน และสิวมีหัวแบบต่าง ๆ นอกจากนี้อาจเกิดสิวหัวหนองหรือสิวประเภทที่มีหนองอยู่ภายในอันเนื่องมาจากมีเชื้อโรคเข้าไปปะปนอยู่ในสิว ซึ่งอาจเกิดจากการบีบสิว การสัมผัสบริเวณที่เป็นสิวบ่อย ๆ หรือการที่เชื้อโรคสะสมร่วมกับสิวอยู่แล้ว การเกิดหนองจะทำให้สิวมีอาการอักเสบรุนแรง รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งอาจต้องมีการเอาหนองจากในหัวสิวออกแบบถูกวิธีหรืออาจต้องใช้เวลาในการรักษานาน 

AquaPlus แบรนด์ที่เชี่ยวชาญสกินแคร์ดูแลผิวมัน

ประเภทของสิว

ประเภทของสิว

1. สิวหัวดำ (Blackheads)

สิวหัวดำ คือ สิวที่มีการสะสมของเม็ดสีเมลานินเฉพาะจุดมากเป็นพิเศษ ทำให้เห็นเป็นหัวดำที่พื้นผิวหนัง ภายในสิวหัวดำมักมีไขมันสะสมอยู่ อาจมีลักษณะเป็นก้อนแข็งสีเหลืองใสหรือเนื้อเหลวสีขาวขุ่นก็ได้ ซึ่งไขมันที่อยู่ในสิวหัวดำมาจากน้ำมันที่ผลิตออกมาจากต่อมไขมันแต่โดนปิดกั้นโดยสิ่งสกปรกและสะสมอยู่ในนั้น   

2. สิวหัวขาว (Whiteheads)

สิวหัวขาว คือ สิวที่มีลักษณะเป็นเม็ดตุ่ม ไม่มีหัวเปิดที่สิว และมีสีขาวทั่วทั้งเม็ด ภายในสิวมีไขมันสะสมอยู่เช่นเดียวกับสิวหัวดำ เป็นสิวที่มีลักษณะคล้ายกับสิวหัวดำมาก แต่ไม่มีการสะสมตัวของเม็ดสีเมลานิน จึงไม่มีสีดำให้เห็นบนหัวสิว

3. สิวอุดตันขนาดเล็ก (Comedones)

สิวอุดตันขนาดเล็ก คือ สิวที่มีการอุดตันในรูขมขน มีไขมันอยู่ภายในสิว อาจมีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้ แต่ไม่มีการอักเสบ สิวอุดตันขนาดเล็กมีหลายรูปแบบ เช่น มีลักษณะเป็นสิวเสี้ยน สิวเม็ดข้าวสาร สิวผด หรือสิวอุดตันที่มีก้อนและเนื้อไขมันอยู่ข้างในแต่ไม่มีอาการอักเสบ  

4. สิวอักเสบ แบบตุมนูนแดง (Papules)

สิวอักเสบ แบบตุ่มนูนแดง หรือ สิวตุ่มขนาดเล็ก คือ สิวที่ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ ตัวสิวเป็นสีแดง มีการอักเสบ เมื่อใช้นิ้วกดลงที่สิวจะมีสัมผัสที่นุ่มแต่ก็รู้สึกเจ็บ สิวชนิดนี้อาจพัฒนาเป็นสิวตุ่มขนาดใหญ่และสิวตุ่มมีหนองร่วมได้ และหากรักษาไม่ดีหรือมีการแกะเกาจนเกิดการติดเชื้อ ก็อาจทำให้สิวลุกลามทั่วทั้งใบหน้าได้

5. สิวหัวหนอง (Pustules)

สิวหัวหนอง หรือ สิวตุ่มมีหนองร่วม คือ สิวที่มีการอักเสบและติดเชื้อร่วมด้วย มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดง มีหัวสีขาวหรือสีเหลืองที่เห็นได้ชัดเจนซึ่งตรงส่วนนั้นคือหัวหนอง รู้สึกเจ็บเมื่อกด หรือหากมีการอักเสบมากก็อาจจะรู้สึกเจ็บได้ตลอดเวลา อาจมีขนาดใหญ่ได้ถึง 1.5 ซม. เลยทีเดียว เมื่อสิวแก่หัวสิวจะเปิดออก หนองที่หัวสิวจะไหลออกมาและสิวก็จะค่อย ๆ หายไปในที่สุด สิวประเภทนี้หากรักษาไม่ดีหรือมีการบีบแกะสิวที่รุนแรงอาจทำให้เป็นรอยสิวและหลุมสิวได้  

6. สิวหัวช้าง (Nodules)

สิวหัวช้าง หรือ สิวตุ่มใหญ่ คือ สิวที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดง อาจมีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้ บางครั้งอาจพบหลายหัวในหนึ่งตุ่ม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บหรือหากอักเสบมากอาจเจ็บตลอดเวลา อาจจะขึ้นเป็นเม็ดแข็งหรือนุ่มก็ได้ หากรักษาสิวชนิดนี้ไม่ดีอาจทำให้เกิดรอยสิวและหลุมสิวขนาดใหญ่ได้

7. ซีสต์ (Cysts)

ซีสต์ คือ สิวที่มีขนาดใหญ่มาก มีการอักเสบอย่างรุนแรง ภายในอาจมีหนองและเลือดผสมกันอยู่ รู้สึกเจ็บปวดตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องสัมผัส ส่วนใหญ่แล้วสิวประเภทนี้จะเกิดนาน ๆ ครั้งและเมื่อเกิดก็จะมีเพียง 1 เม็ดบนใบหน้าเท่านั้น ซึ่งอาจพัฒนามาจากสิวหัวหนองและสิวตุ่มใหญ่ที่มีการรักษาที่ไม่ดีหรือมีการติดเชื้อ จึงทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้น

8. สิวผด (Acne vulgaris)

สิวผด คือ สิวที่มีลักษณะคล้ายผดผื่น เม็ดเล็ก สีแดง ไม่อักเสบ อาจมีอาการคันหรือแสบบริเวณที่เป็นสิว มักเกิดหลายเม็ด บางครั้งอาจเกิดเฉพาะจุด เช่น บริเวณหน้าผาก แก้ม หรือลำคอ บางครั้งก็อาจเกิดทั่วทั้งใบหน้าเลยก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดในช่วงหน้าร้อน อาจเกิดจากความร้อน เหงื่อ ความมันส่วนเกิน เซลล์ผิวที่ตายแล้วที่ไม่ยอมหลุดออก และเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในรูขุมขนจนทำให้เกิดตุ่มนูนแต่ไม่เกิดการอักเสบ  

 

 

 

 

สิวเกิดจากอะไร

1. สภาพผิวหน้า

สภาพผิวที่เป็นสิวง่ายที่สุดคือ ผิวมันและผิวผสม เนื่องจากผิวประเภทนี้มีต่อมไขมันจำนวนมากกว่าผิวประเภทอื่น จึงทำให้เกิดความมันส่วนเกินที่ผิวบ่อย อีกทั้งผิวมันอาจมีต่อมไขมันและรูขุมขนที่มีขนาดใหญ่กว่าสภาพผิวอื่น หลายคนจึงอาจมีปัญหารูขุมขนกว้างร่วมด้วย ซึ่งการที่รูขุมขนมีขนาดกว้างก็จะทำให้สิ่งสกปรกต่าง ๆ เข้าไปอุดตันได้ง่ายขึ้น

2.บริเวณทีโซน (T-Zone)

ทีโซน คือ บริเวณที่ไล่ลงมาตั้งแต่ส่วนหน้าผาก จมูก และคาง หากนิ้ววาดทั้งสามส่วนนี้จะเห็นว่าคล้ายรูปตัว T บริเวณทีโซนนี้เป็นบริเวณที่มีรูขุมขนมากกว่าส่วนอื่นบนใบหน้า (สังเกตได้จากขนที่มีมากกว่าส่วนอื่น) ทำให้มีต่อมไขมันมากกว่าบริเวณอื่นไปด้วย เมื่อมีต่อมไขมันมากจึงทำให้มีความมันส่วนเกินในบริเวณนี้มาก จึงมีโอกาสการเกิดสิวได้ง่ายขึ้น   

3. หน้ามันมาก

น้ำมันบนใบหน้า (Sebum) ที่มากเกินไปหรือความมันส่วนเกินจนทำให้หน้ามันมาก เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดสิวเลยทีเดียว เพราะน้ำมันสามารถจับสิ่งสกปรก อย่างเช่น ฝุ่น ควัน หรือละอองสกปรกได้ดี หากอยู่รวมกับเครื่องสำอางหรือสารเคลือบผิวที่อยู่ในเครื่องสำอางและครีมกันแดดก็จะจับตัวกันเป็นก้อนและเข้าไปอุดตันในรูขุมขนได้ง่าย ทำให้ต้องเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดด้วยคลีนซิ่งก่อนล้างหน้าทุกครั้ง นอกจากนี้น้ำมันยังเป็นตัวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย P. acne อีกด้วย โดยน้ำมันที่เคลือบอยู่บนผิวหน้าจะทำให้รูขุมขนไม่มีอากาศหรือออกซิเจนเข้าถึง ซึ่งเชื้อ P. acne สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสุญญากาศและจะกินไขมันแล้วปล่อยสารที่ทำให้เกิดการอักเสบออกมาจนกลายเป็นสิวได้ในที่สุด  

4. ฮอร์โมน

ไม่ใช่จะมีเพียงฮอร์โมนเพศเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสิว แต่ยังมีอีกหลายฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิว สามารถอธิบายได้ดังนี้

  • แอนโดรเจน (Androgen) 

พบมากในเพศชาย มีส่วนที่ทำให้ต่อมไขมันมีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดการผลิตน้ำมันที่ผิวหน้ามากขึ้นและเป็นสิว

  • โปรเจสเตอโรน (Progesterone) 

ฮอร์โมนเพศหญิงที่ควบคุมการตกไข่และการมีประจำเดือน ในช่วงก่อนหรือขณะมีประจำเดือนฮอร์โมนตัวนี้จะเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้รูขุมขนบวมและเกิดสิวได้ง่าย

  • คอร์ติซอล (Cortisol) 

ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียดและนอนดึก ทำให้ต่อมไขมันใหญ่ขึ้น เกิดความมันส่วนเกิน และเกิดสิวได้ง่าย

5.  แบคทีเรีย หรือ สิ่งสกปรก  

เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวคือ P. acnes หรือ Propionibacterium acnes โดย P. acnes จะเจริญเติบโตโดยการกินไขมันเป็นอาหารและในรูขุมขนที่มีการอุดตัน ไม่มีออกซิเจนผ่าน โดยจะปล่อยเอนไซม์ไลเปส (Lipase) ออกมาย่อยไขมันที่อยู่ในรูขุมขน จนเกิดเป็นกรดไขมัน (Fatty acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ผิวอักเสบและเกิดเป็นสิว นอกจากนี้ P. acnes ยังปล่อยเอนไซม์อีกหลายตัวที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น โปรติเอส (Protease) และ ไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase) 

6. รูขุมขนอักเสบ รูขุมขนอุดตัน

รูขุมขนอักเสบ รูขุมขนอุดตัน เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • เซลล์ผิวที่ตายแล้ว
  • สารเคลือบผิวที่จับเป็นก้อน
  • ความมันส่วนเกิน
  • ฝุ่นละออง หรือ มลภาวะ และ ควันพิษต่างๆ

โดยสิ่งสกปรกเหล่านี้จะเข้าไปอุดตันอยู่ในรูขุมขนและปิดกั้นไม่ให้น้ำมันไหลออกมาได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รูขุมขนเกิดปูดบวมและอักเสบ รวมถึงต่อมไขมันก็จะเกิดการอักเสบไปด้วยเนื่องจากต่อมไขมันมีการผลิตน้ำมันออกมาตลอดเวลา (อาจจะมากหรือน้อยแล้วแต่สิ่งเร้าที่เกิดขึ้น) แต่น้ำมันที่ผลิตไม่สามารถออกสู่ผิวด้านนอกได้จึงทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบรูขุมขนอุดตัน  

สาเหตุการเกิดสิว

สาเหตุการเกิดสิว

1. สิววัยรุ่น

วัยรุ่น (13-25 ปี) เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรุนแรง จากวัยเด็กก็จะเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ฮอร์โมนเพศอย่าง แอนโดรเจนในเพศชาย และ โปรเจสเตอโรนในเพศหญิง นอกจากจะทำให้เกิดความเป็นหนุ่มสาวแล้ว ยังมีผลข้างเคียงทำให้ต่อมไขมันขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ผิวหน้าเริ่มมีความมันมากขึ้น รูขุมขนกว้างขึ้น และเกิดการอุดตันได้ง่าย

2. สิว ผู้ใหญ่

สิว ผู้ใหญ่ (25 ปีขึ้นไป) ส่วนใหญ่มักเกิดจากเซลล์ผิวที่ตายแล้วเข้าไปอุดตันในรูขุมขน เพราะในวัยผู้ใหญ่จะมีการผลัดเซลล์ผิวที่แย่ลง เนื่องจากคอลลาเจนและโปรตีนใต้ชั้นผิวมีน้อยลง ทำให้มีความชุ่มชื้นบนผิวหน้าลดลงและเซลล์ขี้ไคลที่มีเคราตินเป็นส่วนประกอบก็จะไม่หลุดง่าย ๆ ทำให้เซลล์ขี้ไคลที่หมดอายุแต่ไม่ถูกผลัดออกเข้าไปสะสมอยู่ในรูขุมขนจนเกิดการอักเสบและเกิดเป็นสิว  

3. สิวฮอร์โมน

สิวฮอร์โมน เป็นสิวที่เกิดจากฮอร์โมนเป็นหลัก ซึ่งมักมาจากฮอร์โมนเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในช่วงวัยรุ่น ฮอร์โมนเป็นได้ทั้งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การเกิดสิวมากน้อยแตกต่างกัน บางคนฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่โลดโผนมากก็จะเกิดสิวน้อย บางคนมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนภายในอย่างมากก็จะทำให้เกิดสิวมากกว่า ทั้งนี้สิวในผู้ใหญ่ที่มาจากฮอร์โมนอาจมาจากความเครียด การนอนดึก ความกดดัน และการทำงานหนัก 

4. สิว กรรมพันธุ์

หลาย ๆ อย่างที่อยู่ในร่างกาย เช่น สภาพผิว ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ตลอดจนการเกิดสิว มักจะมาจากกรรมพันธุ์หรือการถ่ายทอดจาก DNA ยกตัวอย่างเช่น หากรุ่นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายมีสภาพผิวมัน รุ่นลูกหลานก็มีโอกาสที่จะมีสภาพผิวมันได้เช่นกัน หรือหากรุ่นพ่อแม่เคยมีปัญหาสิวอย่างหนักในช่วงวัยรุ่น เมื่อถึงรุ่นลูกก็อาจจะมีโอกาสในการเป็นสิวมากในช่วงวัยรุ่น   

5. ครีมบำรุงผิวหน้า หรือ ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน

ผิวมันควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ตั้งแต่ คลีนซิ่ง โทนเนอร์ ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด ตอลดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะจะทำให้ผิวหน้ามันมากขึ้นและเกิดการอุดตันจากความมันส่วนเกิดได้ง่าย แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นคนผิวแห้ง ก็อาจจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันได้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว แต่หากอยู่ในช่วงวัยรุ่นก็อาจต้องพักไปก่อน เพราะต่อมไขมันในช่วงวัยรุ่นมีขนาดใหญ่และผลิตน้ำมันได้มาก อาจทำให้เกิดความมันส่วนเกินได้ อาจต้องหามอยส์เจอไรเซอร์ตัวอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันมาใช้แทน

6. ความเครียด

เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า คอร์ติซอล (Cortisol) ฮอร์โมนตัวนี้จะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว โดยปกติจะหลั่งมากในช่วงเช้าและค่อย ๆ ลดน้อยลงในช่วงกลางคืนเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน แต่หากเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งคอร์ติซอลออกมามากทำให้หลายคนนอนไม่หลับ อีกทั้งยังทำให้อยากทานอาหารหวาน ๆ อีกด้วย ซึ่งทั้งสาเหตุที่ร่างกายตื่นตัวในช่วงกลางคืน (ต่อมไขมันทำงานหนักขึ้น) และทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง ล้วนแต่ทำให้เกิดสิวมากขึ้น

7. อาหารที่ทำให้เกิดสิว  

อาหารเป็นตัวก่อให้เกิดสิวได้ หากเราทานอาหารดีก็จะทำให้เรามีผิวพรรณที่สวยงาม แต่ถ้าอาหารที่เราทานไม่ดีก็จะส่งผลเสียได้เช่นกัน อาหารที่ทำให้เกิดสิว ได้แก่

อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง

เมื่อเราทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง (มีปริมาณน้ำตาลมาก) ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป ตรงนี้ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดสิว อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก ช็อกโกแลต ขนมปังขาว เครื่องดื่มและขนมหวานต่าง ๆ

อาหารมัน

อาหารที่มีความมันมาก ๆ หรือ มีน้ำมันเป็นส่วนผสมเยอะ อาจไปเพิ่มไขมันที่อยู่ในร่างกายและมีผลทำให้เกิดความมันส่วนเกินบนใบหน้าได้จากการขับไขมันออกมาทางผิวหนัง อีกทั้งยังทำให้เกิดสิวอักเสบได้ง่ายอีกด้วย เพราะไขมันทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและหลั่งสารที่ทำให้เกิดการอักเสบได้มากขึ้น

นมวัว และ ผลิตภัณฑ์จากนมวัว

นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต เนย ครีม ทำให้เกิดสิวได้ เพราะในนมวัวมีฮอร์โมนเป็นส่วนประกอบอยู่หลายตัว หนึ่งในนั้นคือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต อาจไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาที่ผิวมากขึ้น เกิดการอุดตัน และเกิดเป็นสิว นอกจากนี้ยังมีสเตียรอยด์บางชนิดผสมอยู่ ซึ่งสเตียรอยด์เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดสิวได้

อาหารที่มีโอเมก้า 6 สูง

โอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง พบได้มากในข้าวโพดและถั่วเหลือง ในทางกลับกันโอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันที่ช่วยลดการอักเสบและลดการเกิดสิวพบในปลาและวอลนัท หากรับโอเมก้า 6 เข้าไปในร่างกายปริมาณสูง ก็จะทำให้เสียสมดุลระหว่างโอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 ในร่างกาย จึงอาจเกิดการอักเสบของผิว เกิดสิวอักเสบ และสิวหัวช้างได้

แอลกอฮอล์

หากร่างกายมีแอลกอฮอล์มากเกินไป ร่างกายจะขาดน้ำ เมื่อร่างกายขาดน้ำก็จะทำให้โครงสร้างผิวอ่อนแอลง อีกทั้งร่างกายยังต้องขับแอลกอฮอล์ออกอีกด้วย จึงทำให้รูขุมขนเปิดกว้างเพราะต้องขับของเสียออก เมื่อรูขุมขนกว้างต่อมไขมันก็จะผลิตน้ำมันออกมาได้มากขึ้น ประกอบกับโครงสร้างผิวที่อ่อนแอก็จะทำให้เกิดการอุดตันและเกิดเป็นสิวได้ง่าย

8. สิวขึ้น จากการทานยา

มีตัวยาหลายชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้สิวขึ้นจากการทานยา เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาที่ทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนคอร์ติซอล ช่วยลดการอักเสบของทางเดินหายใจ ใช้รักษาในโรคที่เกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจ ยากันชัก (Anticonvulsants) เป็นตัวยาที่ใช้รักษาและระงับอาการชักแบบฉับพลันในโรคลมบ้าหมู โรคลมชัก และโรคอื่น ๆ  ยาเลิกสุรา หรือ ยาเลิกเหล้า (Disulfiram)  เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะติดสุราเรื้อรัง เมื่อมีแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย ยาตัวนี้จะตอบสนองขับแอลกอฮอล์ออกทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หรืออาจหมดสติได้ และหนึ่งในนั้นก็คือทำให้เกิดสิว ทั้งนี้หากจำเป็นต้องใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ก็ต้องใช้เพื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงและจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาตัวมาก่อนเป็นอันดับแรก 

9. ฝุ่นละออง หรือ มลภาวะ

ฝุ่นละออง หรือ มลภาวะในอากาศที่ไม่ดีก่อให้เกิดสิวได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่มีอากาศร้อนอบอ้าว เหงื่อออกมาก มีความมันส่วนเกินบนใบหน้ามาก และต้องเจอฝุ่นละออง ก็จะทำให้เป็นสิวได้ง่ายขึ้น เพราะในวันที่อากาศร้อนรูขุมขนจะเปิดกว้างและต่อมไขมันจะเพิ่มการผลิตน้ำมันให้มากขึ้นเพื่อปกป้องผิวไม่ให้เกิดอันตรายและเป็นการลดอุณหภูมิในร่างกายให้เย็นลงด้วยการขับเหงื่อ น้ำมันจะจับฝุ่นละอองในอากาศได้ดี เหงื่อจะเป็นตัวช่วยให้สิ่งสกปรกเข้าสู่รูขุมขนมากขึ้น ในที่สุดก็จะเกิดการอุดตันและเป็นสิว  

10. การใช้ สกินแคร์  

มีส่วนผสมบางตัวในครีมบำรุงผิว หรือ สกินแคร์ ที่อาจก่อให้เกิดสิว เช่น สเตีนรอยด์ พาราเบน แอลกอฮอล์ ซึ่งอาจเป็นสารที่ทำให้ผิวหนังเกิดการแพ้อักเสบและเป็นสิว นอกจากนี้ยังอาจทำให้เป็นสิวโดยการอุดตันได้อีกด้วย เช่น การใช้สกินแคร์ในปริมาณมากเกินไปทำให้ซึมเข้าสู่เซลล์ผิวได้ไม่หมดและตกค้างอยู่ในรูขุมขนจนเกิดการอุดตัน

11. การกดสิว หรือ การบีบสิว

การกดสิว หรือ การบีบสิว นอกจากจะทำให้เกิดแผลเป็นจากสิวและรอยสิวแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อจนเกิดเป็นสิวที่ลุกลามขึ้นทั่วใบหน้าเลยก็ได้ หลายครั้งที่เมื่อเกิดสิวตุ่มขนาดเล็กบนใบหน้าก็อยากจะบีบหรือกดให้มันหายเร็ว ๆ แต่หากเล็บที่ใช้บีบสิวหรืออุปกรณ์กดสิวไม่สะอาด ก็จะทำให้สิวเกิดการติดเชื้อได้ อาจพัฒนาไปเป็นสิวตุ่มที่มีหนองร่วมหรือสิวตุ่มใหญ่ และหากรุนแรงกว่านั้นก็จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า สิวเห่อ ได้

12.  เครื่องสำอาง

เครื่องสำอางมักมีสารเคลือบผิวอย่าง สารเม็ดสี สารกันแดด ซิลิโคน สารกันน้ำและเหงื่อ ซึ่งสารเหล่านี้จะไม่ซึมเข้าสู่ผิว แต่จะเคลือบอยู่บนผิว และเมื่อเจอกับโฟมล้างหน้าที่พยายามจะทำให้สารเคลือบออกไปจากผิวแต่ทำไม่ได้และเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนแทน ซึ่งก้อนสารเคลือบสามารถเข้าไปอุดตันในรูขุมขนได้ ทำให้เกิดสิวและเป็นการปิดกั้นสารบำรุงไม่ให้ซึมเข้าสู่เซลล์ผิวได้อีกด้วย ดังนั้นก่อนล้างหน้าเราจึงต้องใช้คลีนซิ่งเช็ดเครื่องสำอางออกให้หมดก่อน เพื่อป้องกันการเกิดสิว 

วิธีรักษาสิว

สามารถแบ่งได้ตาม ปัญหาผิว

1. ผิวมัน

สิวจากผิวมันโดยทั่วไปจะเกิดจากน้ำมันที่อุดตันอยู่ในรูขนขุมซึ่งทำให้รูขุมขนอุดตันและอักเสบ นอกจากนี้น้ำมันในรูขุมขนยังทำให้รูขุมขนเกิดการขาดออกซิเจนและเป็นที่เจริญเติบโตที่ดีของเชื้อแบคทีเรีย วิธีรักษาสิวในผิวมันสามารถทำได้ดังนี้

  • ล้างผิวหน้าให้สะอาด 2 ครั้งเช้าและเย็นด้วยโฟมล้างหน้าหรือสบู่ล้างหน้าที่ช่วยลดสิวและควบคุมความมัน ห้ามล้างหน้าเกินวันละ 2 ครั้งเพราะจะทำให้ผิวหน้าสูญเสียความชุ่มชื้นและต่อมไขมันจะสร้างน้ำมันเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยความชุ่มชื้นที่สูญเสียไป
  • ใช้โทนเนอร์ทำความสะอาดหลังล้างหน้าเพื่อลดการอุดตัน 
  • แต้มสิวโดยใช้ยาแต้มสิวประเภท Benzoyl Peroxide เพื่อลดเชื้อแบคทีเรีย ลดไขมันบริเวณสิว ผลัดเซลล์ผิว และทำให้หัวสิวยุบตัว แต่ถ้าเป็นสิวอักเสบให้ใช้ในความเข้ามข้นที่น้อยก่อน เช่น 2.5% เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคือง หรือ อาจแต้มทิ้งไว้แค่ 5-10 นาที แล้วล้างออก
  • ใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและควบคุมความมัน

2. ผิวแห้ง

  • ล้างหน้าให้สะอาดวันละ  2 ครั้งต่อวันเช้าเย็นด้วยโฟมล้างหน้าที่ใช้ความชุ่มชื้นสำหรับผิวแห้งหรือเจลล้างหน้า หลีกเลี่ยงสบู่ล้างหน้าเพราะอาจทำให้ผิวแห้งกว่าเดิม หลังล้างหน้าให้ใช้โทนเนอร์บำรุงที่มีวิตามินซี ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มการผลัดเซลล์ผิวและเพิ่มความชุ่มชื้น
  • ใช้ยาแต้มสิวประเภท Benzoyl Peroxide ทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างออก หรือ Salicylic Acid ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกแต่จะไม่ลดไขมัน
  • ทาครีมบำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น

3. ผิวแพ้ง่าย ผิวบอบบาง

  • ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็นด้วยโฟมล้างหน้าหรือเจลล้างหน้าหรือครีมล้างหน้าสูตรสำหรับผิวแพ้ง่าย แล้วต่อด้วยโทนเนอร์บำรุงที่มีสารบำรุงที่อ่อนโยนเป็นส่วนประกอบ
  • ใช้ยาแต้มสิว Azelaic acid ลดเชื้อแบคทีเรียและละลายหัวสิวได้ดี แต่อาจต้องใช้ติดต่อกันนานหลายสัปดาห์กว่าจะหายเพราะออกฤทธิ์ช้าและอ่อนโยน
  • อาจมาสก์หน้าเพื่อลดการระคายเคืองผิวและรักษาสิวสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น

4. ผิวผสม

  • ล้างหน้าวันละ 2 ครั้งเช้าเย็นด้วยโฟมล้างหน้าหรือเจลล้างหน้าที่ช่วยควบคุมความมัน ให้ความชุ่มชื้น และลดการเกิดสิว แล้วใช้โทนเนอร์ทำความสะอาดเช็ดผิวให้สะอาดหมดจด
  • ใช้ยาแต้มสิว Benzoyl Peroxide เพื่อลดเชื้อแบคทีเรีย ลดไขมัน ช่วยให้หัวสิวยุบตัวเร็วและผลัดเซลล์ผิว
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อรักษาและเพิ่มความชุ่มชื้น ควบคุมความมันส่วนเกิน 

การรักษาสิวจาก ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ

ปัจจัยการเกิดสิว

1. สำหรับ วัยรุ่น

  • ล้างหน้าให้สะอาด แต้มสิว ทามอยส์เจอไรเซอร์ และครีมกันแดดก่อนออกจากบ้าน
  • งดอาหารหรือกิจกรรมที่อาจไปกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกาย เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง ของหวาน ของทอด การนอนดึก ความเครียด เป็นต้น
  • งดทาครีมบำรุงที่อาจทำให้เกิดการอุดตัน
  • งดแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางเพื่อลดการอุดตัน  

2. สำหรับ ผู้ใหญ่

  • ล้างหน้าให้สะอาด แต้มสิว ทามอยส์เจอไรเซอร์ อาจมาสก์หน้าบ้างเพื่อลดความเครียดให้กับผิวและเพิ่มความชุ่มชื้น
  • ทานอาหารที่มีคอลลาเจนและโปรตีนสูง เช่น ปลา เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผิว
  • งดอาหารที่มีน้ำตาลสูงเพราะหากทานน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้คอลลาเจนถูกทำลายซึ่งจะทำให้เกิดสิวได้ง่ายและเกิดริ้วรอยก่อนวัย
  • งดแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางชั่วคราว  

3. ปัญหาฮอร์โมน

  • รักษาความสมดุลในร่างกายและระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่ดี โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ทานผักและผลไม้ที่หลากหลายในทุกวัน ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และหลีกเลี่ยงอาหารหรือพฤติกรรมที่ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนมากขึ้น เช่น เครียด นอนดึก ทานของหวานมากบ่อย เป็นต้น
  • หากเป็นสิวในช่วงที่ใกล้มีประจำเดือนหรือขณะมีประจำเดือนให้รักษาตามอาการ แต้มสิว รักษาผิวหน้าให้สะอาด ห้ามกด บีบ หรือแกะเกาเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้สิวลุกลามหนักขึ้น
  • หากผู้ชายที่เป็นสิวฮอร์โมนให้รักษาโดยการแต้มสิว รักษาผิวหน้าให้สะอาด ห้ามบีบ กด หรือแกะเกาสิว ออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำมาก ๆ งดอาหารทอดและของหวาน

4. กรรมพันธุ์

  • หมั่นดูแลใบหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้มีสิวเพิ่มขึ้น เช่น นอนดึก เครียด จับหรือสัมผัสหน้าบ่อย ๆ กดบีบสิว เป็นต้น
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผักผลไม้มาก ๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ
  • แต้มสิว มาสก์สิว และทามอยส์เจอไรเซอร์

5. ครีม หรือ ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน

  • หากเป็นสิวจากครีมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน ให้งดการใช้ครีมหรือผลิตภัณฑ์ตัวนั้นไปก่อน
  • ล้างหน้าให้สะอาด ใช้โทนเนอร์ทำความสะอาดผิว มาสก์หน้าเพื่อลดการระคายเคือง ลดการอักเสบของผิว และลดการเกิดสิว ใช้ยาแต้มสิว และทามอยส์เจอไรเซอร์เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น
  • หากจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ เช่น คลีนซิ่งน้ำมันเพื่อเช็ดเครื่องสำอางที่หลุดออกยาก อาจต้องใช้โฟมล้างหน้าและตามด้วยโทนเนอร์ทำความสะอาดเช็ดให้ผิวสะอาดอย่างหมดจด จากนั้นให้มาสก์หน้าเพื่อลดการระคายเคือง ลงครีมบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นเบา ๆ แล้วลงมอยส์เจอไรเซอร์เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น 

6. การกดสิวหรือการบีบสิว

  • สิวที่เกิดจากการบีบสิวหรือกดสิวเกิดจากการติดเชื้อของสิวจนทำให้สิวอักเสบ เป็นหนอง หรือลุกลามมากขึ้น ต้องใช้ยาแต้มสิวประเภท Benzoyl Peroxide ในสิวทั่วไป สิวอักเสบปกติ และสิวหัวหนองปกติ หรือใช้ Isotretinoin ในสิวที่เห่อกระจายมาก ดื้อยา ใช้ยาแต้มสิวทั่วไปแล้วไม่หายหรือสิวหัวช้างที่มีการอักเสบและไขมันมาก ห้ามใช้กับคนที่กำลังตั้งครรภ์และอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว อาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • รักษาความสะอาดของใบหน้า งดสัมผัสหรือจับผิวหน้าไปก่อน

การรักษาสิวจาก ปัจจัยเสี่ยงภายนอก

1. ความเครียด

หากิจกรรมที่ทำแล้วผ่อนคลายความเครียด เช่น ร้องเพลง ฟังเพลง ปลุกต้นไม้ ทำงานบ้าน เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อลดความเครียด 

2. อาหาร

งดอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารทอดที่มีน้ำมันมาก แต่ให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผักและผลไม้ รวมถึงให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวและปรับสมดุลในร่างกาย 

3. การทานยาบางชนิด

ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดสิว แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่ทานไม่ได้ ดังนั้นอาจต้องรักษาตามอาหาร ใช้ยาแต้มสิว รักษาผิวหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ มาสก์ผิวหน้าเพื่อลดการระคายเคืองและลดสิว ทามอยส์เจอไรเซอร์ ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และดื่มน้ำมาก ๆ

4. ฝุ่นละออง หรือ มลภาวะ

ใช้คลีนซิ่ง โฟมล้างหน้า และโทนเนอร์ในการทำความสะอาดผิวหน้าให้สะอาดมากที่สุด เลี่ยงหลีกปะทะกับมลภาวะให้ได้มากที่สุด อาจสวมหมวกหรือกางร่มทุกครั้งเมื่อต้องออกไปข้างนอกอาคาร รวมถึงต้องใช้มอยส์เจอไรเซอร์และครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อปกป้องผิวจากมลภาวะ   

5. สกินแคร์ บางประเภท

งดใช้สกินแคร์ตัวที่เราเกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง พร้อมงดใช้สกินแคร์ไปก่อนชั่วคราวเพื่อให้ผิวได้ฟื้นฟูกลับมาแข็งแรง ระหว่างนี้ให้มาสก์หน้าเพื่อบำรุงผิวและลดการระคายเคืองผิวแทน ใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพื่อกักเก็บความชุ่มชื้น  

วิธีป้องกันสิว

แบ่งได้ตาม ปัญหาผิว  

1. ผิวมัน

  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม
  • หลีกเลี่ยงการกำจัดความมันที่มากเกินไป เช่น ล้างหน้าเกินวันละ 2 ครั้ง เช็ดความมันออกด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าบ่อยมากในหนึ่งวัน เพราะจะทำให้ผิวหน้าขาดความชุ่มชื้นและต่อมไขมันจะยิ่งผลิตน้ำมันออกมาที่ผิวมากขึ้น
  • ไม่ควรใช้โฟมล้างหน้าที่ทำให้ผิวหน้าแห้งตึง เพราะจะทำให้เกิดเป็นผิวมันแต่ขาดน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหน้าบ่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่มีเหงื่อและความมันส่วนเกินมาก 

2. ผิวแห้ง

  • พยายามอย่าให้ผิวแห้งเกินไป เพราะอาจจะทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาชดเชยความชุ่มชื้น ควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำเพื่อกักเก็บและเพิ่มความชุ่มชื้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม เพราะแอลกอฮฮล์จะทำให้ผิวหน้าแห้งกว่าเดิม

3. ผิวแพ้ง่าย หรือ ผิวบอบบาง

  • หลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว เช่น แอลกอฮล์ พาราเบน น้ำหอม หรือสารเป็นเบสมาก เพราะจะทำให้ผิวเกิดการอักเสบและเป็นสิวได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางที่อาจทำให้แพ้ หากช่วงไหนเป็นสิวก็อาจจะต้องงดการแต่งหน้าไปก่อน แต่หากมีความจำเป็นต้องแต่งหน้าทุกวันอาจต้องใช้มาสก์เพื่อลดการระคายเคืองผิว

4.  ผิวผสม

  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันผสม
  • ดูแลส่วนทีโซน (หน้าผาก จมูก คาง) ให้สะอาด ไม่ควรกำจัดน้ำมันบนใบหน้าโดยการเช็ดออกหรือล้างออกมากเกินไป เพราะจะทำให้ผิวเสียความชุ่มชื้นและเกิดการผลิตน้ำมันมากขึ้น
  • ควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์ทุกวันเพื่อรักษาความชุ่มชื้นบนใบหน้า เพราะผิวผสมมีทั้งส่วนที่เป็นผิวแห้งและผิวมัน  

แบ่งตาม ช่วงอายุ

1. ช่วง วัยรุ่น

รักษาผิวหน้าให้สะอาด ใส่ใจดูแลผิวมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการล้างหน้าบ่อย ๆ หรือการเช็ดหน้าเพื่อกำจัดความมันมากเกินไป และควรใช้ครีมกันแดดที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมและให้ความชุ่มชื้นก่อนออกจากบ้านทุกวันเพื่อลดการทำร้ายผิวจากสงแดดซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเกิดสิว

2. ช่วง ผู้ใหญ่

รักษาโครงสร้างผิวให้แข็งแรง โดยการเติมคอลลาเจนและโปรตีนให้กับผิวเสมอด้วยอาหารที่มีคอลลาเจนและโปรตีนสูง เช่น ปลา ซุปที่ทำจากเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และเบอร์รี่ต่าง ๆ มาสก์หน้าเป็นประจำเพื่อให้ลดการระคายเคืองและเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงสร้างผิว และควรใช้มอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำทุกวันเพื่อกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิว

รักษาสิว ด้วยตัวเอง

1. การทานอาหาร

ทานอาหารที่มีประโยชน์ สดใหม่ ทานผักและผลไม้เยอะ ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ งดดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ทานปลาเป็นหลักเพราะมีโอเมก้า 3 สูง มีโอเมก้า 6 น้อย ไขมันต่ำ มีคอลลาเจน และทำให้ผิวแข็งแรง งดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เค้ก ขนมปังขาว น้ำอัดลม เป็นต้น  

2. สมุนไพรรักษาสิว

มาสก์สมุนไพรรักษาสิว อาจใช้ส่วนผสมต่าง ๆ ที่ชอบและมีฤทธิ์ช่วยรักษาสิว เช่น มะเขือเทศ สับปะรด ขมิ้น ไพร มะนาว ดินสอพอง โยเกิร์ต มะขามเปียก เป็นต้น โดยให้มาสก์ทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที ไม่ควรมากส์ผิวหน้านานเกินไปจนมาสก์แห้งติดผิวเพราะจะทำให้ผิวหน้าเสียความชุ่มชื้น

3. สกินแคร์

ใช้ครีมบำรุงผิวที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ไม่ควรทาครีมในปริมาณที่มากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดการตกค้างและอุดตัน หากมีผิวมันหรือผิวผสมควรหลีกเลี่ยงครีมบำรุงผิวที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมอย่างสิ้นเชิง

สรุป

โดยทั่วไปแล้ววิธีรักษาสิวในแต่ละสภาพผิวมีลักษณะคล้าย ๆ กัน คือ

  1. เมื่อรู้ว่าเป็นสิวให้งดการแต่งหน้าเพื่อลดการอักเสบของสิว หากจำเป็นต้องแต่งให้ทามอยส์เจอไรเซอร์ก่อนแต่งหน้า และเมื่อทำความสะอาดผิวหน้าก็ให้เช็ดด้วยโทนเนอร์และมากส์ผิวเพื่อลดการระเคืองผิวด้วย
  2. ใช้ยาแต้มสิวเพื่อลดอาการอักเสบของสิวและทำให้หัวสิวแห้งยุบ แนะนำให้ใช้ยาแต้มสิวในช่วงกลางคืนเพราะตัวยาบางตัวไหวต่อแสง อาจทำให้เกิดรอยดำได้
  3. ห้ามแกะ เกา บีบ หรือกดสิว เพราะอาจจะทำให้สิวระบมและเกิดการอักเสบมากขึ้น บางครั้งอาจกลายไปเป็นสิวอักเสบที่รุนแรงขึ้นหรืออาจมีหนองร่วมด้วย หรือหากมีการติดเชื้อหนัก ๆ ก็อาจจะทำให้สิวเห่อขึ้นกระจายทั่วทั้งใบหน้าได้
  4. รักษาความสะอาด ไม่จับหรือแตะสิวด้วยนิ้วหรือมือที่สกปรกเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ
  5. เมื่อสิวหายแล้วให้รักษาความสะอาดใบหน้าอย่างดี ทามอยส์เจอไรเซอร์เป็นประจำ และหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดสิวซ้ำ

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า