เรามี “ผิว” ประเภทไหนกันนะ? รู้ไว้ ก่อนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว

ประเภทของผิว

เรามี “ผิว” ประเภทไหนกันนะ

โดยปกตินั้นเราสามารถแบ่งประเภทของผิวตามสภาพและลักษณะ ได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ผิวแห้ง (Dry Skin) , ผิวมัน (Oily Skin) , ผิวผสม (Combination Skin) และผิวแพ้ง่าย (Sensitive Skin) จากการศึกษาแต่ละประเภท พบว่าคนเราจะมี ผิว แบบไหนนั้น ถูกกำหนดจากปัจจัยร่วมระหว่างการถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมและปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกของแต่ละบุคคล ทำให้เกิดเป็นประเภทผิวที่แตกต่างกันออกไป  การเรียนรู้ผิวแต่ละประเภทนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้เรารู้จักแยกแยะสภาพผิวแบบต่างๆ และเลือกวิธีการดูแลบำรุงรักษาผิวแต่ละประเภทได้อย่างถูกวิธี เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นฐานของผิวแต่ละแบบ ทำให้เราสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ตอบโจทย์ความต้องการของสภาพผิวแบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  

ผิว

โดยแบ่ง ประเภทของผิว ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. ผิวแห้ง (Dry Skin)

ผิวแห้งเป็นผิวที่มีลักษณะละเอียดบอบบางและเกิดริ้วรอยได้ง่าย เป็นผิวที่มีความมันน้อยกว่าปกติเนื่องจากขาดกรดไขมันในผิวที่จำเป็นในการรักษาความชุ่มชื่นและสร้างเกราะป้องกันผิวจากสิ่งกระทบจากภายนอก ทำให้ผิวมีการผลิตน้ำมันตามธรรมชาติจากต่อมไขมันใต้ผิวที่น้อยกว่าปกติ เมื่อมีน้ำมันในผิวไม่เพียงพอที่จะสามารถป้องกันการสูญเสียน้ำของผิวได้  จึงทำให้ผิวแห้งกร้านและแลดูหมองคล้ำได้ง่าย

ลักษณะของผิวแห้งที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนก็คือ

  • ผิวจะมีลักษณะแห้ง หยาบกร้าน ไม่กระจ่างใส
  • มีแนวโน้มแพ้ง่าย มีผื่นแดงหรือรอยแดงที่ผิว
  • มีอาการตึงผิว ผิวแตก หรืออาจมีการอักเสบและมีอาการคันได้ง่าย
  • ผิวแลดูขาดน้ำ มีความยืดหยุ่นน้อย และผิวลอกเป็นขุยได้ง่าย

แต่อย่างไรก็ตามผิวแห้งก็ยังมีข้อดีอยู่บ้างคือ ผิวแห้งจะมีรูขุมขนเล็กละเอียดทำให้ผิวแลดูเรียบ ไม่มันเยิ้ม และจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสิวต่างๆ ทั้งสิวเสี้ยนหรือสิวอุดตันจะพบน้อยกว่าผิวประเภทอื่นๆ

แต่ข้อเสียที่สำคัญที่สุดของผิวแห้งนั้นก็คือ มักจะเกิดริ้วรอยก่อนวัย รอยเหี่ยวย่นได้ง่าย โดยเฉพาะผิวบริเวณที่บอบบางอย่างเช่นผิวรอบดวงตา 

ดังนั้นการเติมเต็มความชุ่มชื่นให้ผิวอย่างสม่ำเสมอเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำมันและความชุ่มชื่นตามธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการดูแลรักษาผิวประเภทนี้

2. ผิวมัน (Oily Skin)

ผิวมันเป็นผิวที่มีลักษณะมันวาว จากการที่ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันตามธรรมชาติออกมาหล่อเลี้ยงผิวในปริมาณที่มากจนเกินไป ผิวมันจึงมีสารคัดหลั่งที่เป็นไขมันจำนวนมาก ส่งผลให้ผิวเงา มันวาว โดยปกติผิวมันมักเกิดขึ้นมากในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายกำลังมีการเปลี่ยนแปลง และฮอร์โมนนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมภายนอก สภาพอากาศ ทั้งความร้อน และความชื้น รวมทั้งความเครียดทางอารมณ์ก็ส่งผลทำให้ผิวมีความมันส่วนเกินได้เช่นกัน

สำหรับผู้ที่มีผิวมันจะมีรูขุมขนกว้างสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

  • ผิวจะมีลักษณะดูหนา ค่อนข้างหยาบ และดูไม่เรียบเนียน
  • มองไม่เห็นเส้นเลือดบนผิวอย่างชัดเจนนัก  จนบางครั้งอาจทำให้แลดูหมองคล้ำ 
  • และจะมีแนวโน้มเป็นสิวอุดตันและสิว ประเภทอื่นๆ ได้ง่ายอีกด้วย

แต่ข้อดีของผู้ที่มีผิวมันนั้นก็คือ จะไม่มีปัญหาเรื่องริ้วรอยก่อนวัย ไม่มีปัญหาเรื่องรอยเหี่ยวย่นต่างๆ เหมือนผู้ที่มีผิวแห้ง

เนื่องจากผิวมันมีการผลิตน้ำมันออกมาทางรูขุมขนในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นสิ่งสำคัญในการดูแลผิวประเภทนี้จึงเป็นการทำความสะอาดที่ล้ำลึกหมดจดแต่อ่อนโยนกับผิว และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยควบคุมความมันของผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

3. ผิวผสม (Combination Skin)

ผิวผสมเป็นผิวที่มีลักษณะผสมกันระหว่างผิวสองประเภท ซึ่งอาจจะเป็นผิวมันผสมผิวธรรมดา หรือผิวแห้งผสมผิวธรรมดา หรือ ผิวแห้งผสมผิวมัน โดยลักษณะ ผิวผสมจะมีคุณสมบัติของผิวสองประเภทนี้อยู่ด้วยกัน กล่าวคือผู้ที่มีผิวผสมจะมี

  • ความมันเฉพาะบริเวณที่เป็น T-zone ได้แก่ บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง
  • มีรูขุมขนกว้างในบริเวณนี้ จนอาจมีสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขนได้
  • ส่วนบริเวณแก้มทั้งสองข้างจะมีลักษณะแบบผิวธรรมดาหรือผิวแห้ง   

ผิวผสมเกิดจากการที่บริเวณทีโซน T-zone ที่มีผิวมันของผิวผสม เกิดการผลิตน้ำมันที่มากเกินไป เพราะต่อมไขมันบริเวณนี้จะมีขนาดใหญ่และทำงานมากกว่าบริเวณอื่น ทำให้มีปัญหาเรื่องสิวได้ง่าย ส่วนบริเวณข้างแก้มและโหนกแก้มที่มีผิวแห้งเกิดจากการขาดน้ำมัน และสมดุลไขมันผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหาผิวแห้งกร้าน ลอกเป็นขุย สังเกตได้ชัดตอนหลังล้างหน้าบริเวณแก้มทั้งสองข้างจะแห้งตึง

ดังนั้นการดูแลผิวผสมจึงจำเป็นต้องดูแลด้วยวิธีผสมผสาน เพราะลักษณะผิวในแต่ละบริเวณ ต่างก็ต้องการการดูแลอย่างเฉพาะเจาะจง โดยใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวมันบริเวณ T-zone ส่วนบริเวณอื่นใช้วิธีดูแลสำหรับผิวธรรมดาหรือผิวแห้ง  รวมทั้งควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปรับสมดุลของผิวทั้งสองบริเวณให้ใกล้เคียงกันอีกด้วย

4. ผิวแพ้ง่าย (Sensitive Skin)

ผิวแพ้ง่ายเป็นผิวที่มีลักษณะระคายเคืองง่ายและบอบบางมากๆ อ่อนไหวง่ายกับสิ่งต่างๆที่สัมผัสผิวหน้า  เช่น ฝุ่นควัน แสงแดด  กระดาษทิชชู่ เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิวต่างๆ  ผิวประเภทนี้จะมีปัญหาแพ้ง่าย ผิวมีสีแดง มีโอกาสระคายเคืองต่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้กับผิวหน้า มักเกิดอาการผิวแห้งลอก ผิวหน้าตึง ผิวหน้าเป็นผื่นแดง แสบคัน อักเสบได้ง่าย

สำหรับปัญหาผิวบอบบางแพ้ง่ายนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีการแก้ไขหรือรักษาผิวแพ้ง่ายให้หายขาด แต่ก็มีวิธีที่จะควบคุมและจัดการกับอาการต่างๆของผิวแพ้ง่ายได้ ถ้าหากเข้าใจสาเหตุของปัญหาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ก็จะช่วยให้เราสามารถควบคุมอาการผิวแพ้ง่ายได้ดียิ่งขึ้น 

ลักษณะผิว

วิธีสังเกตผิวประเภทนี้ดูได้จากลักษณะเด่นชัดของ

  • การอักเสบได้ง่ายของผิว
  • ผิวจะเกิดอาการเป็นผื่นแดง คัน แสบร้อน ไปจนถึงผิวแห้งแตก 

ซึ่งอาการผิวแพ้ง่ายเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ เพราะเกิดจากเกราะปกป้องผิวอ่อนแอ ทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคืองได้ง่ายมักจะเกิดขึ้นหลังจากการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นให้เกิดการแพ้ อย่างเช่น สัมผัสสารประกอบต่างๆ ในยาบางชนิด สารเคมีในเครื่องสำอาง หรือองค์ประกอบบางชนิดในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 

ดังนั้น ผู้ที่มีแนวโน้มมีผิวบอบบางแพ้ง่ายจึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ไม่ให้สัมผัสโดยตรงกับผิวหน้า  ต้องระมัดระวังการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าเป็นพิเศษ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุชัดเจนว่าเหมาะสำหรับผิวบอบบางแพ้ง่าย ซึ่งมักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ปราศจากน้ำหอม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีโอกาสน้อยมากที่จะก่อให้เกิดการแพ้  แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายมีอาการแพ้เกิดขึ้น แนะนำว่าควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทุกตัว  จากนั้นต้องรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นโดยทันที

Q&A

คำถาม 1: ทำไมเราจำเป็นต้องรู้จักประเภทของผิว

คำตอบ 1: การที่เราศึกษาและรู้จักประเภทต่างๆของผิวนั้น จะทำให้เราสามารถเลือกวิธีการดูแล บำรุงรักษาผิวแต่ละประเภทได้อย่างถูกต้อง  ช่วยในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิวของเรา การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับประเภทผิวจะเป็นผลดีต่อสุขภาพผิวในองค์รวม ช่วยทำให้ผิวได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ผิวสวย เรียบเนียน และสุขภาพดีในระยะยาว

คำถาม 2: เรามีวิธีตรวจสอบง่ายๆว่าผิวของเราเป็นผิวประเภทใดได้อย่างไร

คำตอบ 2: วิธีตรวจสอบง่ายๆ ก็คือ หลังจากตื่นนอนตอนเช้า ให้เอามือแตะรอบๆ บริเวณ T-zone บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง จากนั้นก็ให้แตะบริเวณ C-zone คือบริเวณแก้มและกราม 

  • ถ้ารู้สึกมันมากๆ ช่วง T-zone และ C-zone แสดงว่าเรามีผิวมัน
  • ถ้ารู้สึกมันมากๆ เฉพาะช่วง T-zone แต่แก้มหรือ C-zone แห้ง แสดงว่าเรามีผิวผสม
  • ถ้ารู้สึกว่าผิวแห้งๆ ตึงๆ แสดงว่าเราเป็นคนผิวแห้ง

คำถาม 3: เราสามารถสังเกตความมันวาวของใบหน้า เพื่อระบุลักษณะของผิวได้หรือไม่

คำตอบ 3: ได้  ผิวแต่ละประเภทจะมีความมันวาวแต่ละส่วนแตกต่างกัน

  • ถ้าผิวหน้าดูมันวาวทั้งหน้า และรู้สึกว่าหน้าจะดูหมองคล้ำกว่าตอนก่อนเข้านอนหรือหลังล้างหน้า แสดงว่าเรามีผิวมัน
  • ถ้าผิวหน้าดูมันวาวและดูคล้ำเฉพาะช่วง T-zone แสดงว่าเรามีผิวผสม
  • ถ้าผิวหน้าดูไม่มันวาวเลย แต่มีรอยแดงๆ หรือผื่นแดง แสดงว่าเรามีผิวแห้ง
  • ถ้าผิวหน้ามีอาการระคายเคืองและมีผื่นแดงเยอะ แสดงว่าเรามีผิวบอบบางแพ้ง่าย ต้องการการบำรุงอย่างพิถีพิถัน

คำถาม 4: ถ้าปัจจุบันเราเป็นคนผิวมัน จะมีโอกาสเปลี่ยนเป็นผิวแห้งในอนาคตได้หรือไม่

คำตอบ 4: ประเภทของผิวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างที่ทำให้สภาพ

ผิวเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น อายุ ฮอร์โมน สภาพแวดล้อม ครีมบำรุงและเครื่องสำอางที่เราใช้อยู่ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นเราจึงควรเช็คผิวของเราอยู่เสมอ  เพื่อให้สามารถเลือกใช้ครีมบำรุงหรือเมคอัพได้อย่างเหมาะสมกับของผิวแต่ละประเภท

คำถาม 5: ผิวธรรมดา (Normal Skin) มีลักษณะเป็นอย่างไร

คำตอบ 5: ผิวธรรมดา เป็นผิวที่มีสุขภาพดี มีความสมดุล คือไม่แห้งจนเกินไป และ ไม่มันจนเกินไป   ผิวมีลักษณะเรียบเนียน กระจ่างใส  รูขุมขนเล็กละเอียด  ไม่ค่อยพบปัญหาผิวใดใด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า