สารบัญ
เคยสังเกต หรือหยุดมอง ผื่นเม็ดเล็กๆ ที่เกิดขึ้นตามใบหน้าเราบ้างหรือไม่? หลายคนมักจะเข้าใจผิด คิดว่าเป็นสิวทั้งนั้น แต่ที่จริงแล้วสิ่งที่มีลักษณะคล้ายสิวนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิวเสมอไป เพราะว่ามีโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามใบหน้าและมีลักษณะคล้ายสิวมาก จนทำให้ใครหลายๆ คนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเม็ดสิว ซึ่งโรคผิวหนังชนิดนั้นคือ รูขุมขนอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อรา อีกทั้งโรคผิวหนังชนิดนี้มีลักษณะคล้ายสิวมากจนแยกแทบไม่ออก จึงได้ชื่อเรียกอีกอย่างว่า สิวเชื้อรา นั่นเอง
สิวเชื้อรา คืออะไร
เคยสงสัยไหมว่าเรารักษาสิวมาเยอะ หรือรักษามาหลายครั้งแล้วทำไมไม่หายสักทีแล้วสิวก็มักจะเกิดในบริเวณเดิมซ้ำๆ อีกด้วย มันคือสิวอะไรกันแน่นะ ซึ่งจริงๆ แล้วสิวชนิดนั้นคือ สิวเชื้อราหรือเรียกอีกอย่างว่าสิวยีสต์ ซึ่งแท้จริงแล้วสิวเชื้อราไม่ใช่สิว แต่เป็นชื่อเรียกของ โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา (Malassezia folliculitis หรือ Pityrosporum folliculitis) ซึ่งโรคนี้เกิดจาก เชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่ม “มาลาสซีเซีย (Malassezia species)” เป็นผื่นแดงเม็ดเล็กๆ มีลักษณะคล้ายสิวมาก อาจจะเกิดอยู่เดี่ยวๆ หรือพบร่วมกับสิวชนิดอื่นด้วยก็ได้
สาเหตุการเกิด สิวเชื้อรา
สิวเชื้อราที่เกิดตามใบหน้าและร่างกายนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1.เชื้อรา
เชื้อราถือว่าเป็นสาเหตุหลักๆ เลยที่ทำให้เกิด สิวเชื้อรา ซึ่งเชื้อราที่ทำให้เกิดสิวชนิดนี้ คือ เชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่ม มาลาสซีเซีย (Malassezia species) ที่พบได้บนผิวหหนังของทุกเพศทุกวัย เมื่อเชื้อราชนิดนี้มีการเจริญเติบโตมากผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดสิวเชื้อราได้ ซึ่งนอกจากนี้แล้วเชื้อราชนิดนี้ก็อาจจะทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่นๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น โรครูขุมขนอักเสบ รวมไปถึงเกลื้อนและโรครังแคอักเสบอีกด้วย
2.ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ
ซึ่งสาเหตุนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดสิวเชื้อราขึ้น ซึ่งการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราต่ำลงนั้น ก็เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีการใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะ เป็นระยะเวลานาน ซึ่งการใช้ยาพวกนี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันของผิวลดต่ำลงตามไปด้วย
3.อาหาร
อาหารที่กลุ่มที่มีแป้ง ยีสต์และน้ำตาลสูงเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมหวานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบเกอรี่ เค้ก ขนมปัง หรือพวกของหมักของดอง และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงแอลกอฮอร์ต่างๆ ด้วย ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวเชื้อราได้
4.สภาพอากาศร้อน
อากาศร้อนๆ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวเชื้อราได้ โดยเฉพาะเมืองที่มีสภาพอากาศร้อนอย่างเมืองไทย ที่พบเจอสิวเชื้อราได้บ่อยมาก และยิ่งผู้ที่มีสภาพผิวมันหรือผู้ที่มีเหงื่อออกง่าย บุคคลเหล่านี้จะยิ่งมีโอกาสเกิดสิวเชื้อราได้มากกว่าคนทั่วไป
ซึ่งนอกจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดสิวเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็น ความอ้วน ความเครียด พักผ่อนน้อย สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือการสวมแมสรวมไปถึงรูขุมขนอุดตันจากการใช้สกินแคร์บำรุงผิวต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดสิวเชื้อราได้ทั้งนั้น
สิวเชื้อรา กับ สิวทั่วไป ต่างกันอย่างไร
สิวเชื้อรากับสิวธรรมดาทั่วไปที่เกิดจากการอุดตัน เกิดจากฮอร์โมนหรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากจนแทบจะแยกไม่ออกกันเลยทีเดียว แต่ยังมีข้อสังเกตที่ทำให้เราสามารถแยกได้ว่าสิวตัวนี้เป็นเชื้อราหรือสิวเป็นสิวธรรมดา โดยสิวเชื้อราจะมีลักษณะเป็นผื่นตุ่มนูนแดงเม็ดเล็กๆ ที่ขึ้นตามรูขุมขน แต่ละตุ่มก็จะมีขนาดเท่าๆ กัน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะมีหัวหนองสีขาวๆ อยู่บนตุ่มนูนแดงนั้นด้วย ซึ่งสิวเชื้อราจะไม่มีการอุดตันข้างในสิว และอาการสำคัญที่เราสามารถสังเกตได้ง่ายมากที่สุด คือ สิวเชื้อราจะมีอาการคันร่วมด้วย มักจะเป็นๆ หายๆ ในบริเวณเดิมซ้ำๆ แต่สิวทั่วๆ นั้นไปจะมีขนาดไม่เท่ากัน เล็กบ้างใหญ่บ้าง ผสมกัน จะมีการอุดตันอยู่ข้างในสิวและไม่มีอาการคันเหมือนกับสิวเชื้อรา
สิวเชื้อรา รักษาอย่างไร
ในการรักษาสิวเชื้อรานั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องแยกให้ออกก่อนว่าสิวที่เป็นอยู่นั้นเป็นสิวธรรมดาทั่วไปหรือเป็นสิวเชื้อรากันแน่ เพราะว่าการรักษาสิวเชื้อราและสิวทั่วไปแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหากว่าคุณใช้วิธีการรักษาสิวเชื้อราเหมือนกับการรักษาสิวทั่วไป อาจจะทำให้สิวเชื้อราอักเสบและขยายขึ้นมากกว่าเดิมได้
1.ยาทาน
ยาทาน ใช้รักษาสิวเชื้อราในผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือสิวเชื้อราขึ้นเยอะ แต่ส่วนใหญ่การรักษาสิวเชื้อรามักจะนิยมเป็นยารับประทาน เพราะว่ามัน สามารถรักษาได้รวดเร็วกว่า ซึ่งตัวยาทานที่ใช้ในการรักษาสิวเชื้อรานั้นจะเป็นยาฆ่าเชื้อรา เช่น
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
- ฟลูโคนาโซล
- ไอ-ทรา-โคนาโซล
ซึ่งการใช้ยารับประทานในการรักษาสิวเชื้อรานั้นต้องระวังผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง การใช้ยาทานในการรักษาจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและหากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงมากก็ควรเข้าพบแพทย์ทันที
2.ยาทา
ยาทาที่ใช้ในการรักษาสิวเชื้อราเป็นยาฆ่าเชื้อเช่นกันกับยาทาน ใช้ในการรักษาสิวเชื้อราในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือเป็นน้อย และมักจะใช้เป็นยาเสริมในการรักษาหลังจากที่รักษาด้วยยาทานจนสิวเชื้อราทุเลาลงแล้ว ซึ่งยาทาที่ใช้ในการรักษาสิวเชื้อรา มีดังนี้
- คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) แบบครีมและโลชั่น
- ไมโคนาโซล (Miconazole)
- อีโคนนาโซล (Econazole)
- โคลไตรมาโซล (Clotrimazole)
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide)
ซึ่งในการรักษาสิวเชื้อราไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยาทานหรือยาทา ห้ามซื้อยาใช้เอง ต้องปรึกษาปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยและสามารถรักษาสิวเชื้อราได้อย่างตรงจุด
3.การใช้แสง
เป็นการใช้แสงเลเซอร์ ในการรักษาสิวเชื้อรา ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการและลดการอักเสบของสิวเชื้อราได้
4.หลีกเลี่ยงการทำทรีทเม้นต์
คุณไม่ควรที่จะทำทรีทเม้นท์ในขณะที่ยังเป็นสิวเชื้อราอยู่ เพราะการทำทรีทเม้นท์ จะยิ่งเป็นการรบกวนสิวเชื้อราและในทรีทเม้นท์นั้นอาจจะมีสารสกัดที่ไม่เหมาะกับผิวของคุณ จนทำให้สิวเชื้อราอักเสบมากขึ้นกว่าเดิมได้
สิวเชื้อรา ป้องกันอย่างไร
เราไม่สามารถป้องกันสิวเชื้อราได้ 100% ทำได้เพียงบรรเทาอาการและป้องกันไม่ให้สิวเชื้อราเกิดซ้ำบ่อยๆ เท่านั้น
1.ล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน
ในการทำความสะอาดใบหน้า ควรเลือกผลิตภัณฑ์ โฟมล้างหน้า มีความอ่อนโยนต่อผิวและควรล้างหน้าให้สะอาดหมดจด เพราะจะช่วยขจัดสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เกาะติดบนผิวออกไป ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดสิวเชื้อราได้ในระดับหนึ่ง
2.ดูแลผิวให้สะอาดอยู่เสมอ
ในระหว่างวันแน่นอนว่าเราต้องเจอทั้งสภาพอากาศร้อน ฝุ่นควันและมลภาวะต่างๆ มากมาย จึงควรดูแลผิวให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดการหมักหมม โดยเฉพาะในตำแหน่งมีความอับชื้น อย่างผิวที่อยู่ภายใต้ร่มผ้าหรือผิวบริเวณที่สวมแมส ที่ควรดูแลรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ
3.ใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่ปลอดภัย
เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่จะเป็น รองพื้น แป้งพัฟ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดสิวเชื้อรา รวมถึงการเลือกใช้สกินแคร์บำรุงผิวต่างๆ ที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว จนทำให้เกิดการอุดตันภายในรูขุมขนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสิวเชื้อราได้ ดังนั้นการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางหรือสกินแคร์บำรุงผิวใดๆ ควรเลือกแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือและเลือกให้เหมาะกับสภาพผิวของผู้ใช้งานด้วย
สรุป สิวเชื้อรา
สิวเชื้อราหรือสิวยีสต์ แท้จริงแล้วเป็นโรครูขุมขนอักเสบจากการติดเชื้อรา ซึ่งลักษณะของโรคนี้คล้ายกับสิวมากจนแทบจะแยกไม่ออก จึงได้ชื่อเรียกอีกอย่างว่า สิวเชื้อรา นั่นเอง ซึ่งแม้ว่าสิวเชื้อรากับสิวทั่วไปจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก แต่วิธีที่ใช้ในการรักษาสิวเชื้อรากับสิวทั่วไปนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในการจะรักษาสิวแต่ละครั้งเราจึงต้องรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าสิวที่เราเห็นนั้นใช่สิวจริงๆ หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงและลุกลามมากขึ้นกว่าเดิม